เทรนด์ที่จะกำหนดทิศทางการทำงานในปี 2024 และปีต่อ ๆ ไป
ปี 2023 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่ผู้นำในหลาย ๆ องค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ทั้งแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ การดิสรัปของ Generative AI (GenAI) หรือแม้แต่ ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้นำสามารถบริหารองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพในปี 2024 และปีต่อ ๆ ไป Gartner (การ์ทเนอร์) จึงทำการศึกษา และพบแนวโน้ม 9 ประการ ที่จะกำหนดทิศทางการทำงานที่องค์กรต้องรับมือ ดังนี้
1. สวัสดิการดึงดูดให้คนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ
ปี 2024 เป็นปีที่องค์กรต่าง ๆ กำหนดให้พนักงานที่ทำงานระยะไกล (remote working) หรือทำงานจากบ้าน (work from home) เข้ามาทำงานในออฟฟิศมากขึ้น หลังจากไม่ได้เข้าออฟฟิศแบบ 100% มาหลายปี
อย่างไรก็ตาม การกลับมาทำงานในสำนักงานยังคงเป็นที่ถกเถียงในหลายองค์กร เพราะพนักงานต่างกังวลถึงต้นทุน หากต้องเดินทางไปออฟฟิศทุกวัน ทั้งต้นทุนที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน อย่างเช่น การเสียเวลาในการเดินทาง
ด้วยเหตุนี้ บริษัทชั้นนำจึงพยายามคิดหารูปแบบสวัสดิการที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์ทั้งพนักงานและองค์กร เช่น
ให้เงินอุดหนุนด้านที่อยู่อาศัย : ช่วยจัดหาที่อยู่ใกล้บริษัทให้พนักงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง
จัดหาคนดูแลภาระที่บ้าน : นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พนักงานหลายคนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงที่อยู่ที่บ้านอย่างใกล้ชิดมากขึ้น องค์กรชั้นนำจึงพยายามเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ที่ตรงเป้าหมาย เช่น บริการดูแลเด็กนอกสถานที่ บริการดูแลสัตว์เลี้ยง และบริการดูแลผู้สูงอายุโดยมืออาชีพ
ส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงิน : การวิจัยของการ์ทเนอร์ในปี 2023 พบว่า คนทำงานเพียง 24% เท่านั้นที่ให้คะแนนความเป็นอยู่ทางการเงินของตนในเกณฑ์ดี ซึ่งการมีสถานภาพทางการเงินในระดับต่ำยิ่งทำให้พนักงานไม่อยากเสียค่าเดินทางไปออฟฟิศ ดังนั้น องค์กรจำนวนมากจึงเริ่มเสนอบริการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลและบริการให้ความรู้ด้านการเงินแก่พนักงาน เพื่อช่วยให้พนักงานใช้การเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2. การทำงานสี่วันต่อสัปดาห์จะกลายเป็นเรื่องปกติ
การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้ถูกหยิบขึ้นมาเจรจาในหลายองค์กรทั่วโลก ซึ่งรูปแบบการทำงานเช่นนี้เป็นที่ต้องการของพนักงานจำนวนมาก โดย 63% ของผู้สมัครงานกล่าวว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์โดยได้รับค่าจ้างเท่าเดิมเป็นสวัสดิการที่ดึงดูดให้พวกเขาอยากทำงานกับองค์กรนั้น ๆ
ตามการสำรวจของการ์ทเนอร์ในปี 2023 พบว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มีข้อดี คือ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานดีขึ้น
3. AI สร้างโอกาสให้คนทำงานมากกว่าแย่งงาน
ผลสำรวจของการ์ทเนอร์ในปี 2023 พบว่า พนักงาน 22% เกรงว่า AI จะมาแทนที่งานของตนเองในอีกห้าปีข้างหน้า แต่การ์ทเนอร์กลับระบุว่า AI จะไม่เข้ามาแทนที่งานในระยะสั้นถึงระยะกลาง แต่จะมาผลักดันคนทำงานให้มีความรับผิดชอบใหม่ ๆ เช่น โต้ตอบกับ AI ซึ่งการ์ทเนอร์ยังคาดการณ์ด้วยว่า AI จะมีบทบาทในงานด้านงานข้อมูลมากถึง 70% ภายในปี 2025 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2023 ประมาณ 10%
4. ผู้จัดการแผนกต้องมีทักษะแก้ไขข้อขัดแย้งของพนักงาน
ในปี 2024 ความขัดแย้งระหว่างพนักงานมีแนวโน้มว่าจะสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากวิกฤตต่าง ๆ ที่คาดว่าอาจจะเกิด เช่น การประท้วงหรือนัดหยุดงานของแรงงานจากความไม่พอใจต่าง ๆ เช่น บริษัทปรับเปลี่ยนนโยบายกระทันหันเพื่อสอดรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาความแตกต่าง และปัญหาการมีส่วนร่วม ซึ่งความขัดแย้งระหว่างพนักงานทุกระดับส่งผลให้ประสิทธิภาพของทั้งบุคคลและทีมลดลง
5. เตรียมพร้อมรับมือความเสี่ยงจากการใช้ GenAI
การริเริ่มใช้ GenAI มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยง ทั้งด้านผลลัพธ์ที่ผิดพลาด การกำกับดูแลข้อมูลและการควบคุมคุณภาพที่ไม่ดี ดังนั้น ความสามารถในการการตัดสินใจที่ดีของพนักงานจึงมีความจำเป็นอย่างมาก องค์กรจึงควรดูแลให้แน่ใจว่า ทีมงานสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมเพื่อให้พวกเขามีความรู้เพียงพอในการป้องกันปัญหา รวมถึงรู้กฎระเบียบและข้อกฎหมายดีพอ
6. ทักษะที่ต้องการสำคัญมากกว่าใบปริญญา
“ความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยเหมาะสำหรับลักษณะงานเมื่อวาน ไม่ใช่ของวันพรุ่งนี้”เป็นคำกล่าวที่ได้ยินอยู่บ่อย ๆ ซึ่งหลายองค์กรกำลังทำลายเพดานวุฒิการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ และเปิดรับการจ้างงานตามทักษะแทนพิจารณาใบปริญญา
บริษัทใหญ่ ๆ อย่างเช่น กูเกิล, สายการบินเดลต้า, เอคเซนเชอร์ ได้ยกเลิกข้อกำหนดด้านปริญญาออกจากการประกาศรับสมัครงาน เพื่อดึงดูดผู้ที่มีความสามารถที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ซึ่งแนวทางนี้ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถจ้างงานได้กว้างขวางมากขึ้น
7. คุ้มครองพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากนี้ต่อไป หลายองค์กรจะเริ่มเน้นการคุ้มครองพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น
ความปลอดภัย : องค์กรจะพัฒนาแผนเชิงรุกเพื่อเสนอที่พักพิง และเสบียงอาหารเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
การชดเชย : องค์กรจะเสนอผลประโยชน์ทางการเงินแก่ผู้ที่ประสบภัย สร้างที่อยู่อาศัยระยะสั้น ช่วยเหลือในการย้ายที่อยู่ ให้วันลา หรือแม้แต่จ่ายค่าอุปกรณ์สำหรับดูแลความปลอดภัย
การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต : หลายองค์กรได้ขยายการให้บริการด้านความเป็นอยู่ที่ดีที่ครอบคลุมด้านจิตใจและอารมณ์ รวมถึงเสนอการเข้าถึงที่ปรึกษาด้านอาการซึมเศร้า
8. DEI จะยิ่งถูกฝังทั่วทั้งองค์กร
บริษัทต่าง ๆ จะเริ่มหันมาปลูกฝัง DEI (Diversity – ความแตกต่าง, Equity – ความเท่าเทียม และ Inclusion – การมีส่วนร่วม) ทั่วทั้งองค์กร เพราะหลังจากที่เรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามในปี 2020 แต่แล้วก็เริ่มถูกใส่ใจน้อยลงในหลายองค์กร
ทั้งนี้ เรื่อง DEI เป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้สำคัญมาก ดังนั้น หากองค์กรใดต้องการดึงดูดทาเลนต์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ดังนี้ ปี 2024 จะเป็นปีที่หลายองค์กรต่อยอดโครงการที่เกี่ยวข้องกับ DEI และเปลี่ยนจากที่มีอยู่ในไซโล (silo) เพียงอย่างเดียว มาฝังไว้ทั่วทั้งองค์กร
9. เส้นทางอาชีพแบบดั้งเดิมจะหายไป
เส้นทางอาชีพแบบดั้งเดิมที่พนักงานก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเกษียณอายุเมื่อถึงจุดสูงสุดในอาชีพกำลังจะจากไป เพราะเราจะได้เห็นพนักงานหลายคนไม่เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี หรือเกษียณในขณะที่อายุยังน้อย นอกจากนั้น หลายองค์กรจะมีการนำพนักงานที่เกษียณอายุกลับมาเป็น gig worker หรือพี่เลี้ยงให้รุ่นน้องอีกด้วย
Source: https://hbr.org/2024/01/9-trends-that-will-shape-work-in-2024-and-beyond, www.gartner.com/en/articles/9-future-of-work-trends-for-2024